วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

ในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ โจโฉตั้งตัวเป็นมหาอุปราชสำเร็จราชการแผ่นดิน และคิดกำจัดเล่าปี่ซึ่งขณะนั้นครองเมืองซีจิ๋วอยู่ โจโฉตีเมืองเสียวพ่าย และเมืองซีจิ๋ว ซึ่งเป็นหัวเมืองของจ๊กก๊กได้ เล่าปี่หนีไปตัวคนเดียวเข้าพึ่งอ้วนเสี้ยว โจโฉจึงคิดจะไปตี เมืองแห้ฝือ ที่กวนอู รักษาครอบครัวของเล่าปี่อยู่ในเมืองนี้ โจโฉได้ให้ เทียหยก ลวง กวนอู ออกมาจากเมืองแห้ฝือ และล้อมจับตัวกวนอูไว้ เทียหยก ได้ใช้อุบายปล่อยทหารของ เล่าปี่ ที่ โจโฉ จับเป็นเชลย เข้าไปเป็นไส้ศึกใน เมืองแห้ฝือ จน กวนอู เชื่อใจ แล้วให้ แฮหัวตุ้นคุมทหารไปท้ารบกับ กวนอู และสกัดทางไม่ให้กวนอูกลับเข้าไปในเมืองได้ กวนอู จึงคุมทหารหนีไปหยุดพักอยู่บนเขา ทหารไส้ศึก เปิดประตูเมืองรับโจโฉเข้าเมือง โจโฉให้จุดไฟเผาเมือง สำหรับครอบครัวเล่าปี่นั้นให้ทหารรักษาไว้ดังเดิม กวนอูตกอยู่ในวงล้อมของโจโฉ โจโฉ ต้องการ กวนอู ไว้ช่วงใช้ เตียวเลี้ยว นายทหารของโจโฉ อาสาเกลี้ยกล่อมกวนอูให้เข้ารับราชการกับโจโฉ เตียวเลี้ยว เดิมเป็นเบ๊ ของลิโป้ ติดตามลิโป้มาตั้งแต่อยู่เมือง ตันลิว จนลิโป้ได้ครองเมืองชีจิ๋ว แล้วถูกโจโฉตีแตก ขณะที่ลิโป้ถูกลากตัวไปประหาร ลิโป้โกรธเล่าปี่ ที่ไม่ช่วยเหลือจึงร้องด่าไตลอดทาง เตียวเลี้ยวถูกมัดคุมตัว เดินสวนกับลิโป้ ก็ให้สติกับลิโป้ว่า ว่า เกิดเป็นชายชาติทหารจะกลัวความตายทำไม กวนอูซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วยได้ฟัง ก็เกิดความชื่นชมในความกล้าหาญของเตียวเลี้ยวจึงขอให้โจโฉไว้ชีวิตแก่เตียวเลี้ยว โจโฉก็ยกโทษตายให้เตียวเลี้ยว และรับไว้เป็นทหารของตนตั้งแต่นั้นเตียวเลี้ยวก็ได้รับราชการในสังกัดโจโฉ จนกระทั่งเล่าปี่เป็นศัตรูกับโจโฉตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองชีจิ๋วแทนลิโป้ โจโฉจึงยกทัพมาปราบปรามเล่าปี่หนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว เตียวหุยหนีไปอยู่บนเขาบองเอี๋ยงสัน แต่กวนอูถูกล้อมอยู่ใกล้ เมืองแห้ฝือเตียวเลี้ยว นายทหารของโจโฉ อาสาเกลี้ยกล่อมกวนอูให้เข้ารับราชการกับโจโฉ โดยกล่าวกับกวนอูว่า หากกวนอู แหกด่านคิดสู้ตายกับกองทัพโจโฉจะมีผิด 3 ประการกล่าวคือ
1. เล่าปี กวนอู เตียวหุย สาบานเป็นพี่น้องกันที่สวนดอกท้อ ว่าแม้ไม่ได้เกิดวันเดือนปีเดียวกัน ก็ขอ ตายวันเดือนปีเดียวกัน หากกวนอู ถึงแก่ความตาย ก็จะถือเป็นความผิดข้อที่ 1
2. เล่าปี่ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์คิดกอบกู้บ้านเมือง บัดนี้เล่าปี่ยังไม่สำเร็จการใหญ่ หากกวนอูต้องตายลงเสียก่อน ก็จะถือเป็นความผิดข้อที่ 2 เพราะมิได้อยู่ช่วยงานเล่าปี่ให้สำเร็จการใหญ่
3. เล่าปี่ฝากครอบครัวของตนแก่กวนอู หากกวนอูตาย ก็จะถือเป็นความผิดข้อที่ 3 เพราะหากกวนอูตาย ก็ย่อมไม่มีใครดูแลครอบครัวของเล่าปี่ในที่สุดกวนอูตัดสินใจยอมแพ้ แต่ขอคำมั่นสัญญา 3 ประการ กับเตียวเลี้ยว ฝากไปถึงโจโฉ ว่า
1. กวนอูขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ตามที่เคยสาบานไว้กับเล่าปี่และเตียวหุย
2. ขอปฎิบัติต่อพี่สะใภ้ของตน(นางกำฮูหยินและบิฮูหยิน) โดยใช้เงินเบี้ยหวัดของเล่าปี่ที่เคยได้พระราชทานมาให้พี่สะใภ้ทั้งสอง และห้ามผู้ใดมากล้ำกรายเข้าถึงประตู
3. ถ้ากวนอูรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ตนก็จะไปหา แม้จะไม่ได้ร่ำลาโจโฉก่อนก็ตาม
โจโฉตกลงให้คำมั่นสัญญากับกวนอู ตั้งแต่นั้น กวนอู จึงต้องอยู่รับราชการในสังกัดของโจโฉ  โจโฉพยามที่จะซื้อใจกวนอู อยู่ทุกวันมิได้ขาด สามวันแต่งโต๊ะเลี้ยงทีหนึ่ง อีกทั้งพากวนอูไปเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ กวนอูได้รับพระราชทานนามว่า บีเยียงก๋ง แปลว่า เจ้าหนวดงาม วันหนึ่งโจโฉเห็นม้าของกวนอูผอมโซ จึงยก ม้าเซ็กเธาว์ ซึ่งเคยเป็นม้าฝีเท้าดีของลิโป้ ม้าเซ็กเธาว์มีกำลังมากวิ่งได้วันละพันลี้ กวนอู ปลาบปลื้มใจยิ่งนัก ถึงกับหลุดปากออกมาว่า ดีจริงวันใดเมื่อเรารู้ข่าวว่าท่านพี่เล่าปี่อยู่ที่ใด เราจะได้ไปหาเล่าปี่ได้เร็วขึ้น โฉจึงมีความวิตกยิ่งนัก ใจหนึ่งก็ชื่นชมกวนอูว่ามีความกตัญญูหาผู้ใดเสมอมิได้ แต่อีกใจหนึ่งรู้สึกน้อยใจที่พยายามเลี้ยงดูกวนอูด้วยทรัพย์สมบัติและยศศักดิ์เท่าใด ก็ไม่สามารถทำให้กวนอูเสื่อมความภักดีต่อเล่าปี่ได้ โจโฉจึงปรึกษากับเตียวเลี้ยวว่า เห็นจะเปล่าประโยชน์ที่จะเลี้ยงดูกวนอูอีกต่อไป เตียวเลี้ยวจึงอาสาไปหยั่งฟัง ความคิดเห็นของกวนอูดูก่อน แล้วเตียวเลี้ยวก็ได้คำตอบจากกวนอูว่า สำหรับโจโฉนั้น กวนอูสำนึกในบุญคุณอยู่เสมอ แต่เล่าปี่เป็นพี่ร่วมสาบาน มีคุณแก่กวนอูมาก่อน ถ้าเล่าปี่ตาย กวนอูก็จะตายตามไปด้วยดังที่สาบานไว้ แม้ว่ากวนอูจะต้องจากโจโฉไป ก็จะไม่ลืมบุญคุณของโจโฉ และจะต้องตอบแทนบุญคุณของโจโฉอย่างแน่นอน เตียวเลี้ยวนำความไปบอกโจโฉ โจโฉได้แต่ถอนหายใจ วิตกกังวลที่ไม่สามารถซื้อใจกวนอูมาจากเล่าปี่ได้ ซุนฮกจึงแนะนำแก่โจโฉว่า เมื่อกวนอูบอกว่าจะแทนคุณก่อนจากไป เพราะฉะนั้น เวลามีศึกก็อย่าให้กวนอูออกรบ เพราะถ้ายังไม่มีความชอบ กวนอู ก็จะยังอยู่กับโจโฉเป็นมั่นคง โจโฉ เห็นด้วยกับซุนฮก ซ้ำโจโฉยังแสร้งใช้อุบาย เพื่อให้น้ำใจของกวนอูหักหาญแปรเปลี่ยนจากเล่าปี่ ในคราวระหว่างเดินทัพทางไกล เมื่อหยุดทัพ ณ ตำบลใด ยามตกค่ำ โจโฉก็จัดให้กวนอูกับ ฮูหยินของเล่าปี่ พักอยู่ร่วมกระโจมเดียวกัน หมายว่าหาก
ชายหญิงอยู่ใกล้ชิดกัน ย่อมเสมือนน้ำมันใกล้เปลวไฟ ซึ่งพร้อมที่ปะทุลุกโชนด้วยเรื่องความรักความใคร่ โจโฉจึงเปิดช่องให้กวนอูคิดล่วงเกินฮูหยินเล่าปี่ ซึ่งนำไปสู่การแตกหักกับเล่าปี่ แต่การณ์ผิดคาด ทุกค่ำคืน กวนอู จะออกมายืนอยู่หน้ากระโจมพักเพียงลำพัง กุมง้าวมังกรเขียวไวัอย่างมั่นคง ยืนเฝ้ารักษาการณ์ภายนอกอย่างสงบนิ่งไม่ขยับเขยี้อนตลอดคืน เป็นเช่นนี้ทุกค่ำคืนฝ่ายเล่าปี่ หลบหนีไปอยู่กับ อ้วนเสี้ยว อยู่มาอ้วนเสี้ยวเชื่อคำยุยงของเล่าปี่ ให้ออกรบกับโจโฉ อ้วนเสี้ยวได้สั่งให้ งันเหลียง ทหารเอก เป็นทัพหน้า เดินทัพเข้าทางด่านแปะแบ๊ ทหารโจโฉ มีความกริ่งเกรง ครั่นคร้ามในฝีมือ ของงันเหลียง ไม่มีใครขันอาสาออกสู้รบ กวนอูขันอาสาออกสู้รบ โจโฉจำใจต้องให้กวนอูออกสู้รบ กวนอูใช้ง้าวฟัน งันเหลียง คอขาดตายอ้วนเสี้ยวจึงส่ง บุนทิว ผู้ซึ่งมีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า งันเหลียง ออกสู้รบกวนอูก็ฆ่า บุนทิว ตายเสียอีกคน กวนอูฆ่าแม่ทัพของอ้วนเสี้ยว ตายถึงสองคน ซึ่งควรจะถือเป็นการตอบแทนบุญคุณของโจโฉได้ในระดับหนึ่งอยู่มากวนอูได้ข่าวว่าเล่าปี่ไปอยู่ด้วยอ้วนเสี้ยว จึงลาจากโจโฉ เพื่อเดินทางไปหาเล่าปี่ ความต่อจากตอนนี้
เป็นตอนที่ 23-24 กล่าวถึงกวนอูพอรู้ว่า เล่าปี่อยู่กับอ้วนเสี้ยวที่
เมืองกิจิ๋ว กวนอูก็ลาโจโฉไปโดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะหาโอกาสตอบแทนบุญคุณของ
โจโฉให้จงได้ โจโฉ นับถือในความสัตย์ซื่อของกวนอู และยึดมั่นในคำคำสัญญา 3 ข้อที่
เคยให้ไว้กับกวนอู โจโฉขี่ม้าตามไปส่งกวนอู พอตามกวนอูทัน โจโฉมอบเสื้อให้กับกวนอูเป็นที่ระลึก ตามมารยาท กวนอูต้อง ลงจากหลังม้าเพื่อรับเสื้อจากโจโฉ แต่กวนอู มิได้ลงจากหลังม้า ซ้ำยั้งใช้ใช้ง้าวรับเสื้อจากโจโฉ ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นดูหมิ่นไม่ให้เกียรติกันอย่างร้ายแรง การที่กวนอูไม่ยอมลงจากหลังม้า คงเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองก็เป็นไปได้ และถือเป็นความรอบคอบในเชิงทหาร ซึ่งโจโฉเองก็คงเข้าใจเหตุผลในข้อนี้
 
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tao&month=02-2008&date=20&group=6&gblog=84







คุณค่าด้านวรรณศิลป์
                การใช้ภาษา การเล่าเรื่องใช้บรรยายโวหารที่ประโยคไม่ซับซ้อน ใช้ภาษาไม่ยากแม้ว่าจะเป็นภาโบราณ สามารถเข้าใจได้ว่า ใครทำ อะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร แม้ว่าชื่อตัวละครและสถานที่จะมาจากภาษาจีนแต่ชื่อเหล่านั้นสะกดตรงตัว และมีวรรณยุกต์กำกับชัดเจนทำให้อ่านง่าย ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ว่า ตัวละครเป็นใครและมีบทบาทในเรื่องอย่างไรด้วยการพิจารณาจากบริบทประกอบ มีสำนวนเปรียบเทียบที่คมคาย บทสนทนาของตัวละครแสดงถึงวาทศิลป์ในการเจรจาความ มีการใช้ภาษาที่โน้มน้าวใจที่ดี
ลักษณะนิสัยตัวละคร1. โจโฉ: บุรุษผู้ยอมทรยศคนทั้งโลก แต่ไม่ยอมให้โลกทรยศตน ตำแหน่งสูงสุดคือ มหาอุปราช เป็นผู้กุมอำนาจทั้งปวง อยู่เหนือฮ่องเต้ เดิมทำราชการอยู่ภายในราชสำนัก คนทั้งปวงยำเกรง ถูกแต่งตั้งให้ไปสกัดการโจมตีของขบถโจรโพกผ้าเหลือง สุดท้ายแยกตัวหนีออกมาหลังจาก ลอบฆ่า ตั๋งโต๊ะ ไม่สำเร็จ รวบรวมเจ้าเมืองต่างๆ เข้าโจมตีตั๋งโต๊ะ แต่ไม่สำเร็จ จึงแยกตัวออกมา ต่างหาก สะสมกำลังพลและแสนยานุภาพ ครอบครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ จนถูกเชิญมาเป็น มหาอุปราช ได้ใช้ความสามารถ การรู้จักใช้คน และเล่ห์เหลี่ยมกลยุทธ์ ที่เป็นที่เลื่องลือ จนสามารถครอบครองส่วนของแผ่นดินจีนไว้มากที่สุด ที่ได้ชื่อว่า วุยก๊ก
2.
เล่าปี่: ผู้ อ้างว่าสืบเชื้อสายราชวงศ์ฮั่น เดิมเป็นคนยากจน ทอเสื่อขาย ได้ร่วมสาบานเป็นพี่น้อง กับ กวนอู เตียวหุย ปราบปรามขบถโจรโพกผ้าเหลือง นิสัยโอบอ้อมอารี เป็นที่รักใคร่แก่คนทั่วไป ได้เป็นเจ้าเมืองชีจิ๋ว ภายหลังต้องระหกระเหเร่ร่อนไปอาศัยเจ้าเมืองต่างๆอยู่ จนได้ขงเบ้งเป็น ที่ปรึกษา จึงได้ฟื้นตัวและสามารถครอบครองดินแดนเสฉวนได้ในชื่อว่า จ๊กก๊ก 3. ซุนกวน: ผู้เป็นบุตรของซุนเกี๋ยน และน้องของซุนเซ็ก ครอบครองดินแดนฝั่งกังตั๋ง อายุน้อยกว่า โจโฉ กับ เล่าปี่มาก อาศัยความรุ่งเรืองของการค้าขายติดแม่น้ำ สร้างความแข็งแกร่ง ให้กับก๊กตัวเอง ได้ใช้ชื่อว่า ง่อก๊ก 4. กวนอู: น้อง ร่วมสาบานของเล่าปี่ หลังจากตายไปได้ถูกยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ หน้าแดงหน้าแดง จักษุยาว หนวดเครางาม มีง้าวคู่กาย ภายหลังอยู่ร่วมกับ กวนเป๋ง ผู้บุตรบุญธรรม กับจิวฉอง เป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ถูกแผนกลยุทธ์ของลกซุน และลิบองฆ่าตาย
5. เตียวหุย: น้อง ร่วมสาบานของ เล่าปี่และเตียวหุย นิสัยวู่วามอารมณ์ร้อน ชอบเหล้าสุรา ศรีษะเหมือนเสือ จักษุโตกลม เสียงดัง มีกำลังมาก ติดตามเล่าปี่มาตลอด ตายเพราะถูกลอบฆ่า และนิสัยวู่วามของตนเอง
6. ขงเบ้ง: ผู้ ถูกยกย่องว่า หยั่งรู้ดินฟ้า มหาสมุทร จากคำแนะนำของชีซีทำให้เล่าปี่ต้องมาเชิญด้วยตัวเอง ถึงสามครั้งสามครา มีความรู้เป็นเลิศ รับใช้ราชวงศ์เล่าถึง 2 ชั่วอายุคน ภายหลังเล่าปี่ตาย ได้ฝากฝัง เล่าเสี้ยน ให้ดูแลแต่ไม่อาจสำเร็จได้ เพราะพระเจ้าเล่าเสี้ยนหูเบา เชื่อแต่คำยุยง ของขันที ฮุยโฮ ยกทัพไปปราบปรามชาวม่าน และได้สู้รบกับวุยก๊กหลายครั้ง มีคู่ปรับคือ สุมาอี้ 7. สุมาอี้: เริ่ม จากรับข้าราชการเล็กๆ ในก๊กโจโฉ เริ่มไว้วางใจในสมัย พระเจ้าโจยอย ออกสู้รบ กับขงเบ้งหลายครั้ง อย่างคู่คี่สูสี เป็นคู่ปรับตัวฉกาจของขงเบ้ง มีบุตรชื่อสุมาสู สุมาเจียว ได้ถอดพระเจ้าโจฮองออกจากราชสมบัติ สะสมอำนาจเหนือตระกูลโจ ภายหลัง สุมาเอี๋ยน ผู้บุตรสุมาเจียว ถอดพระเจ้าโจฮวนออก แต่งตั้งตัวเองเป็นฮ่องเต้ รวบรวมแผ่นดินจีน เป็นหนึ่งเดียว สถาปนาราชวงศ์จิ้น 8. จูล่ง: วีรบุรุษ ผู้เก่งกาจติดตามเล่าปี่ และขงเบ้ง เป็น 1 ใน 5 ทหารเสือที่เล่าปี่แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วย จูล่ง  กวนอู  เตียวหุย  ม้าเฉียว  ฮองตง สร้างวีรกรรมสำคัญคือ จูล่งฝ่าทัพรับ อาเต๊า โดยที่ตัวคนเดียวฝ่าช่วยชีวิตท่ามกลางทหารและองครักษ์มากมายของโจโฉที่ยกทัพ ลงใต้ หวังครอบครองแผ่นดิน ฝ่าออกมาคืนแก่เล่าปี่อย่างแสนสาหัส ฆ่าทหารเอกและทหารเลว ของโจโฉอย่างดาษดื่น เป็นบุคคลที่ตายดีที่สุดในสามก๊ก เพราะตายอย่างสงบ สุภาพเรียบร้อย  นิสัยซื่อสัตย์  กล้าหาญในหน้าที่
9. ตั๋งโต๊ะ: ทรราช ที่อ้างตัวมาชุบเลี้ยงพระเจ้าเหี้ยนเต้ แต่ไม่อยู่ในจริยธรรม ฆ่าคนอย่างสนุกสนาน แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า มีทหารเอกคู่ใจ คือ ลิโป้ ไม่มีใครกล้าต่อกรด้วย ภายหลังตายพราะผู้หญิง โดยเป็นแผนของอองอุ้นใช้กลยุทธ์ที่เลื่องลือ โดยมีแม่นางเตียวเสี้ยน หว่านล้อมเสน่ห์ ให้พ่อลูก ตั๋งโต๊ะ กับลิโป้ ผิดใจกัน
10. ลิโป้: บุตร บุญธรรมของ ตั๋งโต๊ะ ถูกชุบเลี้ยงมาเป็นองครักษ์ข้างกาย มีฝีมือเป็นหนึ่งในแผ่นดินจีน ยอมฆ่าพ่อบุญธรรมคนเดิมเต๊งหงวน เพราะเห็นแก่ลาภยศ มัวเมาลุ่มหลงอิสตรีได้ขึ้นชื่อเป็น ลูกทรพี 3 พ่อถูกกลยุทธ์แม่นางเตียวเสี้ยน ลุ่มหลงจนฆ่าตั๋งโต๊ะด้วยมือตนเอง หลบหนี ไปพึ่งใบบุญเล่าปี่ แล้วทรยศซ้ำ ภายหลังถูกโจโฉไล่ตามตี จนมุมที่เมืองแห้แฝือ ถูกฆ่า ประหารชีวิต ตัดศรีษะไปเสียบประจาน จบยุคของผู้มีฝีมือเก่งกาจที่สุดในแผ่นดิน 11. จิวยี่: ผู้ ได้รับฉายาว่าเป็นผู้ถ่มนำลายรดฟ้า ได้อยู่รับใช้ในสมัย ซุนเซ็ก และซุนกวน เป็นเพื่อนสนิทของซุนเซ็ก ได้ถูกชวนมาร่วมบริหารบ้านเมือง ครั้นซุนเซ็กตาย จึงอยู่มาสมัยซุนกวน วางแผนออกรบ ร่วมกับขงเบ้ งปราบปรามต่อต้านโจโฉที่ยกทัพมาทำสงครามกับกังตั๋ง ได้ขึ้นชื่อว่าศึกเซ็กเพ็ก สงครามไฟประวัติศาสตร์จารึก ที่เผาผลาญทหารโจโฉร่วมล้านคน ภายหลังถูกขงเบ้งหักหลัง แย่งชิงเมืองทั้งหลายที่รบได้ไป จึงคิดแค้นใจและถูกพิษธนูกลุ้ม ขาดใจตาย ก่อนตายได้ตะโกน ว่า ฟ้าให้ยี่มาเกิด ไฉนจึงให้เหลียงมาเกิดด้วย
บทสรุป เรื่อง   สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

1. ผู้แต่ง เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปล
2. ลักษณะคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ประเภท ความเรียงเรื่องนิทาน
3. จุดประสงค์ในการแต่ง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอุบายการเมืองและการสงคราม
4. ประวัติผู้แต่ง
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และถึงอสัญกรรมเมื่อปี
พ.ศ.2348
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้า กรุงธนบุรี ได้รับราชการเป็นหลวงสรวิชิต ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราช ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาพิพัฒน์โกษาและเป็นเจ้าพระยาพระคลัง
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความสามารถด้านการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองงานประพันธ์ ที่สำคัญ ได้แก่ ราชาธิราช สามก๊ก ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก (กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี) บทมโหรีเรื่องกากี ลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์
5. ที่มาของเรื่อง
จดหมายเหตุเรื่อง สามก๊ก เรียกว่า “สามก๊กจี่” ตันซิ่ว เป็นผู้บันทึก ในสมัยราชวงศ์จิ้น (ปลายพุทธศตวรรษที่ 9) แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 เรื่อง คือ จดหมายเหตุก๊กวุ่ย (วุ่ยก๊ก) จดหมายเหตุก๊กจ๊ก (ก๊กถ๊ก) จดหมายเหตุก๊กง่อ (ง่อก๊ก)
ต่อมาในต้นราชวงศ์เหม็ง (ต้นพุทธศตวรรษที่ 21) หลอกว้านจง (ล่อกวนตง) ได้นำเอาจดหมายเหตุของตัวซิ่ว มาแต่งให้สนุกสนาน เรียกว่า “สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี” หมายความว่า จดหมายเหตุสามก๊กสำหรับ สามัญชน เริ่มเหตุการณ์ตั้งแต่รัชกาล พระเจ้าเลนเต้ ไปจนถึงรัชกาล พระเจ้าจิ้นบู๊เต้สุมาเอี๋ยน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำรัสสั่งให้แปลพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย 2 เรื่อง คือ ไซ่ฮั่น และสามก๊ก (พ.ศ.2345) เดิมเป็นหนังสือจำนวน 95 เล่มสมุดไทย เมื่อนำมาพิมพ์มีจำนวน 4 เล่ม สมุดฝรั่ง สำนวนที่นำมาพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน เป็นสำนวนที่ได้สอบกับต้นฉบับของ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ และพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2408 ในสมัย รัชกาลที่ 4
6. สาระสำคัญของเรื่อง
โจโฉปรึกษาราชการทัพกับเทียหยก เรื่องยกทัพไปรบกับเล่าปี่ ที่เมืองซีจิ๋ว แต่กลัวว่า อ้วนเสียว จะตีเมือง ฮูโต๋ กุยแกเห็นว่าควรจัดทัพไปตีเมืองซีจิ๋วก่อน ซุนเซียนนำข่าวไปแจ้งกวนอูที่เมืองแห้ฝือ แจ้งแก่ เล่าปี่ที่เมืองเสียวพ่าย เล่าปี่ขอความช่วยเหลือจากอ้วนเสี้ยวแต่ไม่สำเร็จ
เตียวหุยยกกองทหารออกมาปล้นค่ายโจโฉถูกกลศึกพ่ายแพ้ เล่าปี่เข้าไปขอความช่วยเหลือจากอ้วนเสี้ยว ที่เมืองกิจิ๋ว โจโฉเข้าตีเอาเมืองเสียพ่ายได้และยกกองทัพไปตีเมืองซีจิ๋ว กวนอูมีฝีมือกล้าหาญชำนาญ ในการสงครามโจโฉอยากชุบเลี้ยงไว้เป็นกำลังทัพ เตียวเลี้ยวอาสาไปเกลี้ยกล่อม ในที่สุดกวนอูจำเป็นต้องยอมไปอยู่กับโจโฉ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1. ขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ 2. ขอพระราชทานเบี้ยหวัดของเล่าปี่ แก่ภรรยาของเล่าปี่ทั้งสองคน (นางเกาฮุหยินและนางบิฮูหยิน) ห้ามผู้ใดเข้าออกถึงประตูที่อยู่ได้ 3. ถ้าพบเล่าปี่ ก็จะกลับไปอยู่กับเล่าปี่ เพราะสาบานเป็นพี่น้องกัน
กวนอูเป็นผู้มีความซื่อสัตย์กตัญญู ถ้ายังไม่ได้ทดแทนคุณโจโฉ ก็จะต้องอยู่กับโจโฉต่อไป
7. ความรู้ประกอบเรื่อง
1. เรื่องสามก๊กเป็นเรื่องที่แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น สามก๊กใหญ่ๆ นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าเลนเต้กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ครองราชย์สมบัติ เมื่อ พ.ศ.711 พระเจ้าเลนเต้เป็นกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองด้วยความอ่อนแอ บ้านเมืองเกิดวิกฤตจลาจล ต่อมาราชสมบัติตกอยู่กับพระเจ้าเหี้ยนเต้ราชบุตร มีตั๋งโต๊ะและต่อมาโจโฉเป็นเซียงก๊ก เป็นมหาอุปราชดูแลการงานของแผ่นดิน เล่าปี่เชื้อสายราชวงศ์ฮั่น ครองแคว้นเสฉวน มีขงเบ้งเป็นที่ปรึกษา ซุนกวนอยู่เมืองวังตั๋งหัวเมืองทางทิศตะวันออก แผ่นดินจีนจึงแยกเป็นสามก๊กดังนี้
1. โจโฉ มีลูกคือ โจฝี ราชวงศ์วุ่ย (วุ่ยก๊ก) อยู่เมืองหลวง
2. เล่าปี่ มีลูกคือ อาเต๊า ราชวงศ์ฮั่น (จ๊กก๊ก) อยู่เมืองเสฉวน
3. ซุนกวน ราชวงศ์ง่อ (ง่อก๊ก) อยู่เมืองวังตั๋ง
2. เรื่องสามก๊กเป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือมีเค้าเรื่องเดิมมาจากเหตุการณ์ และตัวละครที่มีชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ แล้วมีการแต่งเติมให้พิสดารขึ้น ในที่สุดมีนักเขียนฝีมือดี เรียบเรียง ให้เป็นวรรณกรรมที่สำนวนภาษาดี จึงมีคนติดใจแล้วแพร่หลายกันไปในหมู่นักอ่าน
3. หนังสือเรื่องสามก๊ก นักวรรณคดีไทยถือเป็นคู่กันกับหนังสือราชาธิราช แต่ผิดกันที่เรื่องสามก๊กนั้น ชนชาวจีนรับว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่เรื่องราชาธิราชชาวรามัญถือว่าเป็นพงศาวดารมอญ หนังสือสองเรื่องนี้ มีคุณสมบัติเหมือนกันคือ เป็นหนังสือที่มีสำนวนร้อยแก้วดีเสมอกัน คือ ดีในทางบรรยายและในการดำเนินเรื่อง การผูกบทสนทนา กลอุบายในการทำศึกทำให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตาม
4. สำนวนร้อยแก้วของหนังสือเรื่องสามก๊กและเรื่องราชาธิราช ได้มีผู้ถือเป็นแบบฉบับในการเรียบเรียงแปลจากนิยายจีนต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ต่อมาจึงมีผู้แปลเปลี่ยนสำนวนไปดังที่เห็นในปัจจุบัน
5. ศิลปะในการประพันธ์เรื่องสามก๊กอยู่ที่การดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์อีกทั้งวิธีแสดงถึงลักษณะตัวละคร ใช้ถ้อยคำที่กล่าวถึงพฤติกรรมของตัวละคร ภาษาที่ใช้ สั้น กะทัดรัด เข้าใจง่าย แฝงคติธรรม ในการดำเนินชีวิต
6. คุณสมบัติของกวนอู คือ คุณสมบัติของนักรบ ความซื่อตรง การรักษาความสัตย์และมีความกตัญญู
7. วรรณคดีสโมสรในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกย่องให้เรื่องสามก๊กเป็นยอดของความเรียงนิทาน
8. ข้อคิดที่ได้รับ
1. การอ่านนิยายที่เป็นวรรณคดีมรดก จุดประสงค์สำคัญคือให้เห็นค่านิยมของบรรพบุรุษว่ามีแนวคิด ในเรื่องต่างๆอย่างไร เช่น ความประพฤติของตัวละคร เหมาะสมหรือไม่
2. ความกตัญญู รักษาความสัตย์ และมีความซื่อตรง เป็นคุณธรรมที่สมควรได้รับการยกย่อง และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
3. การอ่านวรรณกรรมที่ดีจะช่วยยกระดับและพัฒนาจิตใจให้ดีงามไปด้วย
9. ลักษณะภาษาอันเป็นคำคมที่ควรคิด
“แลเรื่องราวสามก๊กนี้เป็นธรรมดา แผ่นดินมีความสุขก็นานแล้ว ก็ได้เดือดร้อนแล้วก็มีความสุขเล่า แลกระจายกันออกเป็นแว่นแคว้นแดนประเทศของตัวแล้วก็กลับรวมเข้า แยกออกเป็นสามก๊ก แล้วก็รวมเข้าเป็นก๊กเดียวกัน ชื่อว่า เมืองไต้จีน”
“ซึ่งข้าพเจ้ามาหาท่านแต่ผู้เดียวนี้มีความอัปยศแก่คนทั้งปวงเป็นอันมาก ครั้งนี้ข้าพเจ้าจะกินน้ำสบถอยู่ทำการด้วยท่านกว่าจะสำเร็จ อ้วนเสี้ยวได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงจัดแจงเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคให้เป็นอันมาก ทำนุบำรุงเล่าปี่ไว้ในเมืองกิจิ๋ว”
“ถึงมาตรว่าท่านจะได้ความลำบากก็อุปมาเหมือนหนึ่งลุยเพลิงอันลุกแลข้ามพระมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ก็จะลือชาปรากฏชื่อเสียงท่านไปภายหน้า ว่าเป็นชาติทหารมีใจสัตย์ซื่อกตัญญูต่อแผ่นดิน”
10. หัวหน้าก๊กสำคัญในเรื่องสามก๊ก
1. โจโฉ เดิมรับราชการเป็นทหาร เคยรบชนะโจรโพกผ้าเหลือง ครั้งหนึ่งตั๋งโต๊ะกำเริบมากถึงกับ ถอดพระเจ้าเลนเต้แล้วตั้งตนเป็นอัครเสนาบดี ประพฤติตนชั่วช้าเลวทราม โจโฉก็เลยอาสาเอากระบี่ซ่อนจะไปฆ่า แต่ทำไม่สำเร็จต้องหนี ตั๋งโต๊ะนั้นภายหลังถูกอ้องอุ้นกำจัดได้ โดยยกนางเตียวเสี้ยนให้ลิโป้ทหารเอกของ ตั๋งโต๊ะแล้วทำกลให้ตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องเมีย ลิโป้เลยฆ่าตั๋งโต๊ะเสีย ลิฉุย กุยกี พวกของตั๋งโต๊ะจะฆ่าอ้องอุ้น และบังคับ พระเจ้าเหี้ยนเต้ให้ตั้งพวกตนให้เป็นใหญ่ พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องเสด็จหนี โจโฉได้ปราบลิฉุยกับกิกุย ได้ เลยได้เป็นเสนาบดีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนปกครองเด็ดขาด จนคนเกลียดหัวเมืองกระด้างกระเดื่อง รบกัน ปราบกันอยู่นาน โจโฉปราบหัวเมืองต่างๆได้เป็นอันมาก แต่ที่ปราบไม่สำเร็จคือ ก๊กของซุนกวน กับก๊กเล่าปี่
2. ซุนกวน เป็นเจ้าเมืองวังตั๋ง มีเมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นอยู่มาก เป็นคนอยู่ในศีลธรรมซื่อตรง ปกครองประชาชนด้วยความยุติธรรม จึงมีสมรรคพรรคพวกมากขึ้นตามลำดับ ก๊กซุนกวน เรียกว่า ง่อก๊ก
3. เล่าปี่ เคยเป็นคนยากจนมาก่อน มีอาชีพทอเสื่อขายแต่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์ฮั่น นิสัยดี น้ำใจอารี นอบน้อมถ่อมตน มีคนรักใคร่มาก เมื่อปราบโจรโพกผ้าเหลืองมีคนดีหลายคนมาเป็นพวก ได้แก่ กวนอู่ เตียวหุย เพื่อนร่วมน้ำสาบานเป็นพี่น้องกัน จูล่ง ผู้มีความสามารถในเชิงทวน เป็นแม่ทัพสำคัญของเล่าปี่ (เปรียบได้กับแขนซ้ายของพระเจ้าเล่าเสี้ยนบุตรของเล่าปี่) เล่าปี่ทำศึกชนะบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่สามารถครองเมือง ได้ถาวร ต้องเสียเมืองเสมอ ภายหลังได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา จึงได้ตั้งตัวเป็นมั่นคงได้ที่เมือง เสฉวน ก๊กเล่าปี่เรียกว่า จ๊กก๊ก
เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อโจโฉตาย โจผีตาย โจหยอยผู้โอรสขึ้นครองราชย์สมบัติ ทั้งสามก๊กต่อสู้รบกัน เรื่อยมา สุมาเจียวอุปราชวุ่ยก๊กได้ปราบก๊กเล่าเสี้ยน หรอืจ๊กก๊ก (เล่าปี่) สุมาเอี๋ยนเป็นกบฏภอดพระเจ้าโจฮวนราชวงศ์จิ้น ได้ปราบง่อก๊ก คือ ก๊กซุนกวนได้ สามก๊กจึงเป็นก๊กเดียวกัน ทำสงครามต่อเนื่องนานถึง 111 ปี รวมประเทศจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“แลเรื่องราวสามก๊กนี้เป็นธรรมดา แผ่นดินมีความสุขก็นานแล้ว ก็ได้เดือดร้อนแล้วก็มีความสุขเล่า แลกระจายกันออกเป็นแว่นเคว้นแดนประเทศของตัวแล้วก็กลับรวมเข้า แยกออกเป็นก๊กเดียวกัน ชื่อว่า เมืองไต้จิ้น”
11. เรื่องสามก๊กแพร่หลาย
เรื่องสามก๊กนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะมีผู้แปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย
1. ภาษาญี่ปุ่น พ.ศ.2235
2. ภาษาเกาหลี พ.ศ.2402
3. ภาษาญวน (เวียดนาม) พ.ศ.2452
4. ภาษาเขมร ไม่ทราบพ.ศ.
5. ภาษามลายู พ.ศ.2435
6. ภาษาละติน ไม่ทราบพ.ศ.
7. ภาษาสเปน พ.ศ.2373
8. ภาษาฝรั่งเศส พ.ศ.2388
9. ภาษาอังกฤษ พ.ศ.2469
10. ภาษาไทย พ.ศ.2345
ตำนานการแปลเรื่องสามก๊กนั้น ไม่ปรากฏในจดหมายเหตุ มีแต่คำเล่าต่อกันมาว่า พระบาทสมเด็จ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมพระราชวังหลัง (เจ้าฟ้าทองอิน กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) ทรงอำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น และเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลเรื่องสามก๊ก ต้นฉบับเรื่องสามก๊กภาษาไทยที่ตกทอดมาครั้งนั้นเป็นของเอกชนไม่ใช่ฉบับหลวง จึงไม่มีบานแผนกบอกเวลาแต่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงกำหนดเวลาแต่งไว้อย่างกว้างๆว่า เรื่องไซ่ฮั่นคงแปลก่อน พ.ศ.2349 (กรมหลวงพระราชวังหลังทิวงคต) และเรื่องสามก๊กนั้นกะว่าก่อน พ.ศ.2348 (เจ้าพระยาพระคลังถึงแก่อสัญกรรม)เรื่องสามก๊กนั้นตีพิมพ์จบครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พ.ศ.2408 เป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก เป็นหนังสือยาวประมาณ 1700 หน้า ลำดับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในชั่วระยะนานถึง 111 ปี มีชื่อบุคคลและชื่อสถานที่ต่างๆกว่า 500 ชื่อ

1. เก็บความจากประวัติวรรณคดี ของ อ.เจือ สตะเวทิน
2. เก็บความจากประวัติวรรณคดี ของ อ.เปลื้อง ณ นคร

12. คุณค่าของหนังสือเรื่องสามก๊ก
1. ให้ความรู้เกี่ยวกับตำราพิชัยสงคราม ซึ่งมีค่าทางด้านยุทธวิธีในการสงครามให้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาคตธรรมในการดำรงชีวิต ทำให้ผู้อ่านฝึกฝนสติปัญญาความสามารถของตนให้เฉลียวฉลาด และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เช่น ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อเพื่อน ต่อประเทศชาติ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น
“คำโบราณกล่าวไว้ว่า ธรรมดาอุปมาเหมือนอย่างเสื้อผ้าขาดแลหายแล้วหาใหม่ได้ พี่น้องเหมือนแขน
ซ้ายขวา ขาดแล้วยากที่จะต่อได้”
“ธรรมดาเกิดมาเป็นมนุษย์ อันโรคและความตายจะกำหนดวันมิได้”
“ยาดีกินขมปากแต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้ คนซื่อกล่าวคำไม่เพราะหูแต่เป็นประโยชน์แก่กาลภายหน้า”
2. มีสำนวนเฉพาะตัว นับว่าเป็นศิลปะในการแปลวรรณกรรมจากภาษาจีนที่เป็นตัวอย่างของการเขียนร้อยแก้วที่ดี ภาษาโบราณแต่ไม่ล้าสมัย เข้าใจได้จนถึงปัจจุบัน ภาษาง่าย กะทัดรัด สื่อความหมาย ความรู้สึก อารมณ์ความคิดได้ชัดเจน เช่น
“อ้องอุ้นจึงว่าวันนี้แผ่นดินร้อนทุกเส้นหญ้าเจ้าก็ย่อมแจ้งอยู่แล้ว พระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นอุปมาดังฟองไก่ อันวางอยู่หน้าศิลา ขุนนางกับอาณาประชาราษฎร์นั้นอุปมาดังหยากเยื่ออันใกล้กองเพลิงมิได้รู้ว่าความหมาย จะมาถึงเมื่อใด
3. มีอิทธิพลสำหรับวรรณคดียุคหลังๆทำให้เกิดสามก๊กมีหลายสำนวน ได้แก่
1. สามก๊กฉบับวณิพก ของยาขอบ
2. สามก๊กฉบับโจโฉนายกตลอดกาล ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
3. สามก๊กฉบับร้านกาแฟ ของ นายหนหวย
4. สามก๊กฉบับปริทัศน์ ของ เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ
5. อินไซด์สามก๊ก ของ อ.ร.ด.
6. สามก๊กฉบับการ์ตูน สำหรับเยาวชน
4. สามก๊กมีอิทธิพลต่อความคิดและจินตนาการของสุนทรภู่ เช่น ในเรื่องพระอภัยมณี นางวาลีมีความ
เฉลียวฉลาดวาจาคมคายเหมือนขงเบ้ง อุศเรนมีจุดจบ คือ กระอักโลหิต เหมือนจิวยี่
5. นำมาแสดงละครนอกเป็นตอนๆ เช่นอ้องอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะ ตอนจิวยี่กระอักโลหิต หลวงพัฒนพงศ์ภักดี
(ทิม สุขยางค์) เป็นผู้นำมาแต่งและแสดงเป็นบทละครนอก และเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่ง
เก็บความจากประวัติวรรณคดี ของ ร.ศ.บรรเทา กิตติศักดิ์

ไตรภูมิพระร่วงตอนมนุสสภูมิ














*~ไตรภูมิพระร่วง~*
ผู้แต่ง      พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย)เป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 ของสุโขทัย
ชื่อเดิม      เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา
ความหมาย    เรื่องราวของสามโลก คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
จุดมุ่งหมาย  – ชี้ให้เห็นคุณและโทษของโลกทั้งสาม ที่มีแต่การแปรเปลี่ยน ไม่แน่นอน มีแต่อนิจจลักษณะ
              – ชี้ให้มนุษย์หาทางหลุดพ้นไปจากโลกทั้งสามเพื่อไปอยู่ในโลกุตรภูมิ หรือนิพพาน
              – เน้นเรื่องกฎแห่งกรรม โดยเริ่มเนื้อหาจากนรกภูมิ
ผลจากการฟัง   ทำให้บรรลุนิพพาน
ได้เกิดเป็นเทพยดาในสวรรค์อันเป็นโลกทิพย์
       มีโอกาสเกิดมาพบพระศรีอาริย์ผู้จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
คุณค่า
ด้านวรรณคดี    เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าคนไทยรู้จักแต่งวรรณคดีตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ด้านศาสนา       เป็นการนำเสนอปรัชญาทางพุทธศาสนา
ด้านจริยธรรม   กำหนดกรอบการปฏิบัติตนให้คนในสังคมทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ทำให้สังคมสงบสุข
ด้านประเพณีและวัฒนธรรม แสดงให้เห็นความเชื่อที่ตกทอดมาสู่ประเพณีและวัฒนธรรมในปัจจุบัน เช่น
-          การจัดดอกไม้ธูปเทียนให้คนตายก่อนปิดฝาโลง เพื่อให้ผู้ตายนำดอกไม้นั้นไปสักการะพระจุฬามณีเจดีย์ในสวรรค์
-          การเผาศพในเมรุเปรียบเสมือนการเดินทางขึ้นเขาพระสุเมรุไปสู่สวรรค์
ด้านศิลปะ ก่อให้เกิดงานจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมตามแผนภูมิจักรวาลในเรื่องไตรภูมิพระร่วง
แนวคิด      การเกิดในท้องมารดาเป็นทุกข์แบบหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลย
กวีมีความรู้เรื่องการกำเนิดมนุษย์ตามแบบวิทยาศาสตร์
การใช้ภาษา มีการใช้คำเป็นจังหวะน่าฟัง
          – มีการใช้คำสัมผัสคล้องจอง
                        มีการใช้โวหารภาพพจน์ โดยเฉพาะอุปมาโวหาร

*~ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ~*
การเกิดมนุษย์
ปฏิสนธิ -> กัลละ (ขนาด เศษ 1 ส่วน256 ของเส้นผม)
7 วัน       -> อัมพุทะ (น้ำล้างเนื้อ)
14 วัน     -> เปสิ (ชิ้นเนื้อ)
21 วัน     -> ฆนะ (ก้อนเนื้อ, แท่งเนื้อ ขนาดเท่าไข่ไก่)
28 วัน     -> เบญจสาขาหูด (มีหัว แขน2 ขา2) ครบ 1 เดือน
35 วัน     -> มีฝ่ามือ นิ้วมือ ลายนิ้วมือ
42 วัน     -> มีขน เล็บมือ เล็บเท้า (เป็นมนุษย์ครบสมบูรณ์)
50 วัน     -> ท่อนล่างสมบูรณ์
84 วัน     -> ท่อนบนสมบูรณ์
184 วัน  -> เป็นเด็กสมบูรณ์ นั่งกลางท้องแม่ (6เดือน)
การคลอด
ท้อง 6 เดือนคลอด - >ไม่รอด (บ่ห่อนได้สักคาบ)
ท้อง 7 เดือนคลอด ->ไม่แข็งแรง (บ่มิได้กล้าแข็ง)
การเกิด
มาจากสวรรค์  -> ตัวเย็น ออกมาแล้วหัวเราะ (น่ากลัวแหะ-*-)
มาจากนรก -> ตัวร้อน ออกมาแล้วร้องไห้
*** ลมกรรมชวาต = ลมเกิดแต่กรรม ดันให้เด็กคลอดออกมา
กาลทั้ง 3 ได้แก่
กาล 1 -> แรกเกิดในท้องแม่
กาล 2 -> อยู่ในท้องแม่
กาล 3 -> ออกจากในท้องแม่
* คนธรรมดา -> ไม่รู้ตัว จำไม่ได้ทั้ง 3 กาล
* พระปัจเจกโพธิเจ้า/ พระอรหันตาขีณาสพเจ้า / พระอัครสาวกเจ้า -> 2 กาลแรกรู้ตัว จำได้ แต่ลืมกาลที่ 3
*** ควรอิ่มสงสารแล =  เกิดเป็นคนควรใช้ชีวิตให้คุ้มค่า (ประโยคสุดท้ายบท)
อุปมาโวหาร แสดงให้เห็นความทุกข์ของการเกิด
-    เลือดแลน้ำเหลืองย้อยลงเต็มตนทุกเมื่อแล ดุจดั่งลิงเมื่อฝนตก แลนั่งกำมือเซาเจ่าอยู่ในโพรงไม้นั้นแล
-    ในท้องแม่ร้อนนักหนา ดุจดังเราเอาใบตองเข้าจ่อตน แลต้มในหม้อนั้นไซร้
-    กุมารนั้นเจ็บเนื้อเจ็บตน ดั่งคนอันท่านขังไว้ในไหอันคับแคบหนักหนา
-    กุมารอยู่ในท้องแม่นั้นให้เจ็บเพียงจะตายแล ดุจดั่งลูกทรายอันเพิ่งออกแล อยู่ธรห้อยผิบ่มิดุจดั่งคนอันเมาเหล้า(เหมือนลูกทรายโดนคนเมาเอาไปโยนเล่น) ผิบ่มิดุจดั่งลูกงูอันหมองูเอาไปเล่นนั้นแล
-    เมื่อถึงจักคลอด ดุจดั่งฝูงนรกอันยมบาลกุมตีนแลหย่อนหัวลงในขุมนรก อันลึกได้แลร้อยวา
-    เมื่อกุมารคลอดออกจากท้องแม่ ออกแลไปบ่มิพ้นตน ตนเย็น(แม่)นั้นแลเจ็บเนื้อเจ็บตนนักหนา ดั่งช้างสารท่านชักท่านเข็นออกจากประตูลักษ(รูกุญแจ)อันน้อยนั้น
-    แลคับตัวออกยากลำบากนั้นแล ผิบ่มิดั่งนั้น ดั่งคนผู้อยู่ในนรกแล แล ภูเขาอันชื่อคังไคยบรรพตหีบ(บีบ)แลเหง(ทับ) และบดบี้นั้นแล

ขุนช้างขุนแผนตอนขุนช้างถวายฎีกา

เนื้อเรื่องย่อ เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

ฝ่ายพลายงามเมื่อชนะความขุนช้างแล้ว ก็อยู่มาด้วยความสุข แต่มาคิดว่ายังขาดแต่มารดา เห็นว่าไม่ควรคู่กับขุนช้าง แล้วคิดว่าจะรับแม่กลับมาอยู่กับขุนแผน  พอตกค่ำจึงออกเดินทางไปบ้านขุนช้าง สะกดผู้คน ภูตพราย และแก้อาถรรพณ์ แล้วสะเดาะกลอน เข้าไปถึงชั้นสามห้องนอน ถอนสะกดนางวันทอง แล้วเจรจากัน พระไวยแจ้งว่าจะมารับนางวันทองกลับไปบ้าน นางวันทองแนะนำให้นำเรื่องขึ้นกราบทูลพระพันวษา

พลายงามไม่เห็นด้วยและจะพาไปให้ได้ นางวันทองจนใจจึงยอมไปกับพระไวย  ขุนช้างตื่นขึ้นไม่พบนางวันทอง ให้บ่าวไพร่ค้นหาไม่พบ ฝ่ายพลายงามได้คิดว่า ถ้าขุนช้างรู้ว่าลักนางวันทองมา ก็คงจะนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระพันวษา มารดาก็จะต้องโทษ คิดแล้วจึงให้หมื่นวิเศษผล ไปหาขุนช้างที่บ้าน ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องราว อย่าให้ขุนช้างโกรธ ด้วยเป็นคนที่เคยชอบพอกัน โดยให้บอกขุนช้างว่า ตนจับไข้อยู่หลายวัน เกรงว่าแม่ไม่ทันจะเห็นหน้า จึงให้คนไปพาแม่มา พอให้ตนหายไข้แล้ว จะส่งมารดาคืนกลับไป    หมื่นวิเศษรับคำแล้วก็รีบไปบ้านขุนช้าง แจ้งเรื่องตามที่พระไวยสั่งมาทุกประการ ขุนช้างได้ฟังก็ทั้งโกรธและแค้น เมื่อข่มความโกรธแล้วก็ตอบไปว่า ไม่เป็นไรเรื่องการเจ็บไข้ ถ้าขัดสนสิ่งไรก็ขอให้มาเอาที่ตนได้ ว่าแล้วก็ปิดหน้าต่างใส่ ด้วยความเดือดดาลและแค้นใจ

ฝ่ายขุนช้างร่างฟ้องเสร็จแล้วก็มาที่วังใน รออยู่ที่ใต้ตำหนักน้ำพอสมเด็จพระพันวษาเสด็จกลับวังทางเรือตอนจวนค่ำ ขุนช้างก็ลงลอยคอเข้าถวายฎีกา  สมเด็จพระพันวษาเห็นเข้าก็ทรงพระพิโรธให้รับฎีกาไว้ แล้วเอาตัวไปเฆี่ยนสามสิบที จากนั้นให้ตั้งกฤษฎีกาว่าตั้งแต่นี้ไปถ้าใครปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง ต้องระวางโทษเจ็ดสถาน ถึงประหารชีวิต

ฝ่ายขุนแผนได้อยู่กับนางแก้วกิริยา และนางลาวทองมาด้วยความผาสุข ตกกลางคืนคิดถึงนางวันทอง จึงออกเดินมาที่ห้องนางวันทอง ที่เรือนพระไวย ปลุกนางขึ้นมาสนทนาด้วย ได้พร่ำรำพันถึงความหลัง ที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยกันมา นางวันทองแนะนำขุนแผน ให้นำความขึ้นเพ็ดทูลพระพันวษา และไม่ยอมตกเป็นของขุนแผนพอตกดึกก็ฝันไปว่าถูกพยัคฆ์ตะครุบคาบตัวไปในป่าตกใจตื่นแก้ฝันให้ขุนแผนฟังขุนแผนได้ฟังก็ใจหาย รู้ว่าฝันร้ายมีอันตราย       
วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระพันวษาเสด็จออกว่าราชการ เห็นขุนช้างเข้าเฝ้าอยู่ จึงตรัสว่า เรื่องนางวันทองไม่รู้จบ เมื่อครั้งก่อน เรื่องตกหนักที่นางศรีประจัน ก็ตัดสินไปอยู่กับขุนแผน แต่ทำไมกลับมาอยู่กับขุนช้าง แล้วให้หมื่นศรีไปเอาตัวนางวันทอง ขุนแผนและพระไวยมาเฝ้า ทั้งสามคนได้ฟังความก็ตกใจ ขุนแผนจึงจัดการช่วยเหลือนางวันทองด้วยเวทมนตร์ แล้วจึงพากันไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษาจึงตรัสถามนางวันทอง ถึงเรื่องราวแต่หนหลัง นางวันทองก็กราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้ว ก็กริ้วขุนช้างเป็นกำลัง แล้วตรัสถามนางวันทองต่อไปว่า เวลาล่วงไปแล้วถึงสิบแปดปี แต่ทำไมวันนี้จึงมาได้ นางวันทองก็กราบทูลว่า พระไวยไปรับเมื่อตอนกลางคืน สมเด็จพระพันวษาได้ฟัง ก็ทรงขุ่นเคืองพระไวย ที่ทำตามอำเภอใจเพราะแย่งชิงนางวันทองกัน จึงให้นางวันทองตัดสินใจว่า จะอยู่กับใคร หรือถ้าไม่อยากอยู่กับทั้งสองคน จะเลือกอยู่กับลูกก็ได้ นางวันทองเมื่อถึงคราวจะสิ้นอายุ ไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงกราบทูลเป็นกลางไป หวังจะให้สมเด็จพนะพันวษาตัดสินให้สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังนางวันทองพูด แล้ว ก็พิโรธยิ่งนัก ตรัสประนามนางวันทองว่าเป็นหญิงหลายใจ อย่าอยู่ให้หนักแผ่นดิน ให้เอาตัวไปฆ่าเสีย
 ฟังบทเสภาแล้วฝึกขับเสภากันดูนะคะ






                                                                            ตัวละครในเรื่อง

                
นางวันทอง
               นางพิมพิลาไลยเป็นหญิงรูปงามแต่ปากจัดเป็นบุตรของพันศรโยธาและนางศรีประจัน  ต่อมาได้แต่งงานกับพลายแก้วซึ่งภายหลังมีลูกชายด้วยกัน คือ พลายงาม  และได้เปลี่ยนชื่อเป็นนางวัน ต่อมานางถูกแม่บังคับให้แต่งงานใหม่กับขุนช้างทำให้ถูกประนามว่าเป็นหญิงสองใจ นางวันทองเป็นคนที่ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ  เมื่อมีคดีฟ้องร้องถึงสมเด็จพระพันวษา ซึ่งพระองค์ให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใครแต่นางตัดสินใจไม่ถูกจึงถูกสั่งประหารชีวิต
              นางวันทองมีลักษณะสาวชาวบ้านจึงเป็นคนซื่อ ไม่ค่อยฉลาดเท่าใดนัก ทำอะไรก็ทำตามประสาหญิงชาวบ้าน แต่สังคมไทยมีความจำกัดให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบของประเพณี จึงทำให้ดูเหมือนว่านางวันทองไม่รักนวลสงวนตัว
                อย่างไรก็ตาม นางวันทองก็ยังมีภาพลักษณ์ด้านดีที่เห็นได้ชัด คือ ความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรับรู้ถึงความดีของผู้อื่นที่ปฏิบัติต่อนาง ดังจะเห็นได้จาก  ถึงแม้นางจะไม่ได้รักขุนช้างแต่ด้วยความดีของขุนช้างและความผูกพันที่อยู่กันมา 15 ปี ทำให้นางเป็นห่วงเป็นใยความทุกข์สุข และความรู้สึกของขุนช้างไม่น้อย   นางวันทองยังเป็นแม่ที่ดี คือเมื่อเห็นลูกกำลังกระทำผิดก็ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย ดังจะเห็นได้จากตอนที่พลายงามบุกขึ้นเรื่อนขุนช้างในยามวิกาล  นอกจากนี้นางวันทองยังเป็นคนกล้าที่จะยอมรับชะตากรรมของตัวเอง มีน้ำใจเมตตา และให้อภัยโดยไม่เคียดแค้น 

       ขุนแผน
ขุนแผนเดิมชื่อพลายแก้วเป็นบุตรของขุนไกรพลพ่ายและนางทองประศรีมีรูปร่างหน้าตางดงามคมสัน สติปัญญาเฉลียวฉลาด ด้วยลักษณะนิสัยเป็นคนเจ้าชู้และมีคารมคมคาย จึงง่ายต่อการพิชิตใจหญิงสาวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของพลายแก้ว  มีดาบฟ้าฟื้นเป็นอาวุธประจำตัว พาหนะคู่ใจคือม้าสีหมอก ได้บวชเณรและเรียนวิชาที่วัดส้มใหญ่ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลยจนสุดท้ายไปเป็นศิษย์สมภารคง วัดแค มีความรู้ทางโหราศาสตร์ ปลุกผี อยู่ยงคงกระพันคาถามหาละลวยทำให้ผู้หญิงรักตลอดจนวิชาจากตำรับพิชัยสงคราม และยังมีความสามารถเทศนได้ไพเราะจับใจอีกด้วย   ต่อมาสึกจากเณรแล้วแต่งงานกับนางพิมพาลาไลย ไม่นานก็ถูกเรียกตัวไปเป็นแม่ทัพรบกับเชียงใหม่    ครั้นได้ชัยชนะกลับมาก็ได้เป็นขุนแผนแสนสะท้านแต่ปรากฎว่าภรรยาแต่งงานใหม่กับขุนช้าง  ภายหลังขุนแผนต้องโทษถูกจำคุกถึง ๑๕ ปี จึงพ้นโทษ และทำสงครามกับเชียงใหม่อีกครั้งเมื่อชนะกลับมาก็ได้ตำแหน่งเป็นพระสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองกาญจนบุรี.
ขุนช้าง
ขุนช้างมีลักษณะรูปชั่วตัวดำหัวล้านมาแต่กำเนิด นิสัยเจ้าเล่ห์เพทุบายเป็นบุตรของขุนศรีวิชัยและนางเทพทองซึ่งมีฐานะร่ำรวยมาก ขุนช้างแม้จะเกิดมาเป็นลูกเศรษฐีแต่ก็อาภัพถูกแม่เกลียดชังเพราะอับอายที่มีลูกหัวล้าน จึงมักถูกแม่ด่าว่าอยู่เสมอและไม่ว่าจะเดินไปทางใดก็จะเป็นที่ขบขันล้อเลียนของชาวบ้านทั่วไปเสมอ พอเป็นหนุ่มก็ได้นางแก่นแก้วเป็นภรรยาอยู่ด้วยกันได้ปีกว่านางก็ตาย จึงหันมาหมายปองนางพิมพิลาไลยแต่นางไม่ยินดีด้วยและได้แต่งงานกับพลายแก้ว แต่ขุนช้างก็ยังไม่ลดความพยายามคงใช้อุบายจนได้แต่งงานกับนางสมใจปรารถนา ข้อดีของขุนช้าง คือรักเดียวใจเดียวและเลี้ยงดูนางวันทองเป็นอย่างดีทำให้นางวันทองเริ่มเห็นใจขุนช้าง
สมเด็จพระพันวษา
           สมเด็จพระพันวษา เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ยุคนี้เป็นยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งรือง มีความอุดมสมบูรณ์ราษฎรทั้งหลายอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข บรรดาประเทศใกล้เคียงก็อ่อนน้อม เพราะยำเกรงบารมี  
          สมเด็จพระพันวษามีนิสัยโกรธง่าย จะเห็นได้จากตอนที่ ให้นางวันทองเลือกว่าจะอยู่กับใคร นางมีความลังเล เลือกไม่ได้ว่าจะอยู่กับใคร พระพันวษา
ทรงโกรธจึงรับสั่งให้ประหารชีวิต  แต่พระองค์ก็นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความยุติธรรมต่อพวกทหาร  เสนาอำมาตย์ และราษฎรพอสมควร เมื่อมีคดีฟ้องร้องกัน ก็จะให้มีการไต่สวน และพิสูจน์ความจริง
พลายงาม
               พลายงาม    มีตำแหน่งราชการเป็น จมื่นไวยวรนาถ ซึ่งมักเรียกสั้นๆ ว่า พระไวย หรือหมื่นไวย  เป็นลูกของขุนแผนกับนางวันทอง แต่ไปคลอดที่บ้านของขุนช้าง   ยิ่งโตพลายงามก็ยิ่งละหม้ายคล้ายขุนแผนมาก   มีอุปนิสัยความสามารถคล้ายขุนแผน ข้อดีของพลายงามคือมีความสามารถในการออกรบทำศึกสงคราม   พลายงามมีความกตัญญู ตอนที่พลายงามไปช่วยพ่อขุนแผนที่คุกโดยอาสาขอให้พ่อขุนแผนไปทัพด้วยและได้ชัยชนะกลับมา  ทำให้พระพันวษายกโทษให้    ข้อเสียของพลายงาม คือ เป็นถึงขุนนางแต่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม  คือตอนที่ว่าพลายงามบุกขึ้นเรื่อนขุนช้างในยามวิกาลเพื่อที่จะลักพาตัวแม่วันทองมาอยู่ด้วยทำให้ขุนช้างโกรธจึงฟ้องถวายฎีกาและยังมีความเจ้าชู้ ตอนที่ว่าพลายงามได้นางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลาเป็นเมีย แต่เจ้าชู้น้อยกว่าขุนแผน
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
สะท้อนถึงอารมณ์โกรธแค้นและสะเทือนใจ
...ยิ่งคิดเดือดดาลทะยานใจ             ฉวยได้กระดานชะนวนมา
ร่างฟ้องท่องเทียบให้เรียบร้อย        ถ้อยคำถี่ถ้วนเป็นหนักหนา...
มีการพรรณณาถึงเรื่องฝันร้าย
...ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย                ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา
พิเคราะห์ดูทั้งยามอัฐกาล             ก็บันดาลฤกษ์แรงเป็นหนักหนา
มิรู้ที่จะแถลงแจ้งกิจจา                  กอดเมียเมินหน้าน้ำตากระเด็น...
ใช้ถ้อยคำเกิดความเศร้าสะเทือนใจสงสารในชะตากรรมของตัวละคร
...วันนี้แม่จะลาพ่อพลายแล้ว               จะจำจากลูกแก้วไปสูญสิ้น
พอบ่ายก็จะตายลงถมดิน                     ผินหน้ามาแม่จะขอชม
เกิดมาไม่เหมือนกับเขาอื่น                    มิได้ชื่นเชยชิดสนิทสนม...
...ร่ำพลางนางกอดพระหมื่นไวย            น้ำตกไหลซบเซาไม่เงยหน้า
ง่วงหงุบฟุบลงกับพสุธา                         กอดลูกยาแน่นิ่งไม่ติงกาย ฯ

การบรรยายโวหาร
           
ฟ้าขาวดาวเด่นดวงสว่าง           จันทร์กระจ่างทรงกลดหมดมฆสิ้น
จึงเซ่นเหล้าข้าวปลาให้พรายกิน             เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว
เชิงเปรียบเทียบ
อีวันทองตัวมันเหมือนแก้ว                  ถ้าตัดโคนขาดแล้วก็ใบเหี่ยว
ใครจะควรสู่สมอยู่กลมเกลียว                          ให้เด็ดเดี่ยวรู้กันแต่วันนี้
สัมผัสแบบกลอนแปด
           ครานั้นพระองค์ทรงธรณินทร์               หาได้ยินวันทองทูลขึ้นไม่
พระตรัสความถามซักไปทันใด                         ฤามึงไม่รักใครให้ว่ามา
กวีแทรกอารมณ์ขันในการแต่ง
            ขุนช้างเห็นข้าไม่มาใกล้                      ขัดใจลุกขึ้นทั้งแก้ผ้า
แหงนเถ่อเป้อปังยืนจังกา                                 ย่างเท้าก้าวมาไม่รู้ต้ว
ยายจันงันงกยกมือไหว้                                   นั่นพ่อจะไปไหนพ่อทูนหัว
ไม่นุ่งผ่อนนุ่งผ้าดูน่ากลัว                                 ขุนช้างมองดูตัวก็ตกใจ

คุณค่าด้านสังคม
แสดงค่านิยมและความเชื่อของคนในสังคมสมัยอยุธยาซึ่งแม้ว่าจะไม่อาจประเมินข้อเท็จจริงทางสังคมได้เช่นเดียวกันกับเอกสารทางประวัติศาสตร์  แต่วรรณคดีเรื่องนี้ก็เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นโลกทัศน์ของครอบครัวขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ว่ามีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างสุดสูงเพียงใด
สะท้อนให้ว่าในสังคมสมัยนั้นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชยึ่งมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมายและสะท้อนให้เห็นในสมัยนั้นจะมีการตีฆ้องบอกเวลาและจะมีเรื่องเกี่ยวความเชื่อเช่นเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ   คาถาอาคม   เรื่องโชคชะตาดวงของคน

คำอธิบายศัพท์
1. ทรามสวาดิ                          เป็นที่รัก
2. ตกว่า                                ราวกับว่า
3. ฏีกา                                 คำร้องทุกข์ที่ยื่นถวายพระเจ้าแผ่นดิน
4. เพรางาย                            เวลาเช้า และเวลาเย็น
5. เมรุไก                                ภูเขา
6. ร้องเกน                              ร้องตะโกนดังๆ
7. สะเดากลอน                         ทำให้กลอนประตูหลุดออกได้ด้วยคาถาอาคม
8. แหงนเถ่อ                             ค้างอยู่
9. อุธัจ                                   ตกประหม่า
10. มินหม้อ                             เขม่าดำที่ติดก้นหม้อ
11. ส่งทุกข์                              เข้าสวม
12. ขี้ครอก                              ลูกของข้าทาส
13. เครื่องอาน                          เครื่องกิน
14. จวงจันทน์                          เครื่องหอมที่เจือด้วยไม้จวงและไม้จันทน์
15. ฉวยสบเพลง                       บังเอิญถูกจังหวะ

กาพย์เห่เรือ

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
          สารานุกรมประเทศไทย...สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือขานพระนามกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง
          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรประสูติ พ.ศ.๒๒๔๘ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งเป็นพระปิตุลา (ลุง) ของพระองค์ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จ พระบรมโกศหรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กับกรมหลวงอภัยนุชิต พระมเหสีใหญ่ ทรงมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเอกทัศ(พระเจ้าเอกทัศ) และพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าดอกเดื่อ (ขุนหลวงหาวัด)
          จุลศักราช ๑๑๐๓ ปีระกา ตรีศก พ.ศ. ๒๒๘๔ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ได้เข้าพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสถิต ที่พระมหาอุปราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงอินทสุดาวดี เมื่อเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและ พระองค์ได้เป็นกองการปฎิสังขรณ์ วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดอื่นๆ มากมาย
          เจ้าฟ้าธรรมบิเบศร์ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์เพราะเหตุที่มีผู้ไปกราบทูลว่าพระองค์ลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม หรือเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งเป็น เจ้าจอมของ พระราชบิดา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงลงพระอาญาเฆี่ยนจนสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยเจ้าฟ้าสังวาลย์ แล้วนำพระศพไปฝังยังวัดไชยวัฒนาราม
          ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้นั้นจัดเป็นวรรณกรรมอันเลอค่า โดยเฉพาะคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงดูจะมีมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่น ๆ งานนิพนธ์ที่เหลือจนบัดนี้มีที่รวบรวมได้ดังนี้
๑. กาพย์เห่เรือ
๒. บทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน
๓. บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท
๔. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
๕. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง
๖. นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๗๙ ขณะทรงผนวช
๗. พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๘๐ ขณะทรงผนวช
๘. เพลงยาวบางบท

เนื้อเรื่องย่อ 
กล่าวพรรณนาถึงขบวนเรือพยุหยาตรา ทั้งเรือพระที่นั่ง เรือพระบรมวงศานุวงศ์ เรือขุนนาง ข้าราชการ เรือในขบวนพยุหยาตรา และกล่าวชมปลา ชมนก ชมไม้ รวมทั้งสอกแทรกการรำพึงรำพันถึงนางอันเป็นที่รัก ตามแบบแผนในการแต่งนิราศ   การพรรณนาการเดินทางนั้นดำเนินเรื่องสัมพันธ์กับเวลา 1 วัน คือ เช้า ชมขบวนเรือ สายชมปลา บ่าย ชมไม้ เย็น ชมนก ค่ำ บทครวญถึงนางอันเป็นที่รัก
                                                                           
                                                                                             เห่ชมเรือ กระบวน


โคลง
ปางเสด็จประเวศด้าว   ชลาไลย
ทรงรัตนพิมานไชย   กิ่งแก้ว
พรั่งพร้อมพวกพลไกร   แหนแห่
เรือกระบวนต้นแพร้ว   เพลิศพริ้งพายทอง ฯ



เห่ชมปลา
 

ช้าลวะเห
พิศพรรณปลาว่ายเคล้า    คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัศยายังรู้ชม    สมสาใจไม่พามา
นวลจันทร์เป็นนวลจริง    เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา    ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย
เพียนทองงามดั่งทอง    ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหนห่างชาย    ดังสายสวาทคลาดจากสม  
ทรงแปลง
แก้มช้ำช้ำใครต้อง    อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกกรม    เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง ฯ  
มูละเห
น้ำเงินคือเงินยวง    ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง    งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี
ปลากรายว่ายเคียงคู่    เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่    เห็นปลาเค้าเศร้าใจจร  
ทรงแทรก 5 บท
หางไก่ว่ายแหวกว่าย    หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร    ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร
ปลาสร้อยล่องลอยชล    ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย    ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย
เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ    เนื้อน้องฤาอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตต์ชาย   ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
ปลาเสือเหลือที่ตา    เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง   ดูแหลมล้ำขำเพราะคม
แมลงภู่คู่เคียงว่าย    เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม    สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง
หวีเกศเพศชื่อปลา    คิดสุดาอ่าองค์นางี
หวีเกล้าเจ้าสระสาง    เส้นเกศสรวยรวยกลิ่นหอม
ชะแวงแฝงฝั่งแนบ    ชะวาดแอบแปลบปนปลอม
เหมือนพี่แนบแอบถนอม   จอมสวาทนาฎบังอร
พิศดูหมู่มัจฉา   ว่ายแหวกมาในสาคร
คนึงนุชสุดสายสมร   มาด้วยพื่จะดีใจ ฯ
       เห่ชมไม้  
                                              

โคลง
เรือชายชมมิ่งไม้    มีพรรณ
ริมท่าสาครคันธ์    กลิ่นเกลี้ยง
เพล็ดดอกออกแกมกัน    ชูช่อ
หอมหื่นรื่นรสเพี้ยง    กลิ่นเนื้อนวลนาง ฯ
ช้าลวะเห
เรือชายชมมิ่งไม้    ริมท่าไสวหลากหลายพรรณ
เพล็ดดอกออกแกมกัน    ส่งกลิ่นเกลี้ยงเพียงกลิ่นสมร
ชมดวงพวงนางแย้ม    บานแสล้มแย้มเกสร
คิดความยามบังอร    แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม
จำปาหนาแน่นเนื่อง    คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม
คิดคนึงถึงนงราม    ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง
ประยงค์ทรงพวงห้อย    ระย้าย้อยห้อยพวงกรอง
เหมือนอุบะนวลลออง    เจ้าแขวนไว้ให้เรียมชม
พุดจีบกลีบแสล้ม    พิกุลแกมแซมสุกรม
หอมชวยรวยตามลม    เหมือนกลิ่นน้องต้องติดใจ
สาวหยุด พุดทชาด    บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป
นึกน้องกรองมาไลย    วางให้พี่ข้างที่นอน ฯ  
มูละเห
พิกุลบุนนาคบาน    กลิ่นหอมหวานซ่านขจร
แม้นนุชสุดสายสมร    เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย
เต็งแต้วแก้วกาหลง    บานบุษบงส่งกลิ่นอาย
หอมอยู่ไม่รู้หาย    คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตราตรู
มลิวันพันจิกจวง    ดอกเป็นพวงร่วงเรณู
หอมมาน่าเอ็นดู    ชูชื่นจิตต์คิดวนิดา
ลำดวนหวนหอมตระหลบ    กลิ่นอายอบสบนาสา
นึกถวิลกลิ่นบุหงา    รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง
รวยรินกลิ่นรำเพย    คิดพี่เชยเคยกลิ่นปราง
นั่งแนบแอบเอวบาง    ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน
ชมดวงพวงมาลี    ศรีเสาวภาคย์หลากหลายพรรณี
วนิดามาด้วยกัน    จะอ้อนพี่ชี้ชมเชย ฯ

เห่ชมนก
โคลง
รอนรอนสุริยโอ้    อัษฎงค์
เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง    ค่ำแล้ว
รอนรอนจิตต์จำนง    นุชพี่ เพียงแม่
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว    คลับคล้ายเรียมเหลียว ฯ
ช้าลวะเห
เรื่อยเรื่อยมารอนรอน    ทิพากรจะตกต่ำ
สนธยาจะใกล้ค่ำ    คำนึงหน้าเจ้าตราตรู
เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง    นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
ตัวเดียวมาพลัดคู่   เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย
เห็นฝูงยูงรำฟ้อน    คิดบังอรร่อนรำกราย
สร้อยทองย่องเยื้องกราย    เหมือนสายสวาทนาดนวยจร
สาลิกามาตามคู่    ชมกันอยู่สู่สมสมร
แต่พี่นี้อาวรณ์    ห่อนเห็นเจ้าเศร้าใจครวญ
นางนวลนวลน่ารัก    ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน
แก้วพี่นี้สุดนวล    ดั่งนางฟ้าหน้าใยยอง
นกแก้วแจ้วแจ่มเสียง    จับไม้เรียงเคียงคู่สอง
เหมือนพี่นี้ประคอง    รับขวัญน้องต้องมือเรา ฯ
มูละเห
ไก่ฟ้ามาตัวเดียว    เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา
เหมือนพรากจากนงเยาว์    เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง
แขกเต้าเคล้าคู่เคียง    เรียงจับไม้ไซ้ปีกหาง
เรียมคนึงถึงเอวบาง    เคยแนบข้างร้างแรมนาน
ดุเหว่าเจ่าจับร้อง    สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน
ไพเราะเพราะกังวาล    ปานเสียงน้องร้องสั่งชาย
โนรีสีปานชาด    เหมือนช่างฉลาดวาดแต้มกาย
ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย    ห่มตาดพรายกรายกรมา
สัตวาน่าเอ็นดู    คอยหาคู่อยู่เอกา
เหมือนพี่ที่จากมา    ครวญหาเจ้าเศร้าเสียใจ
ปักษีมีหลายพรรณ    บ้างชมกันขันเพรียกไพร
ยิ่งฟังวังเวงใจ    ล้วนหลายหลากมากภาษา ฯ





                           ลองฝึกท่องบทอาขยานกันดูนะคะ

สามัคคีเภทคำฉันท์


สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นนิยายคำฉันท์ขนาดสั้นไม่กี่สิบหน้ากระดาษเท่านั้น แต่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความงดงามทางวรรณศิลป์ ทั้งยังได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยด้วย
หนังสือ สามัคคีเภทคำฉันท์ (ฉบับกระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ เขียนเว้นวรรค เป็น "สามัคคีเภท คำฉันท์") นี้ นายชิต บุรทัต ได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 นับเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของกวีผู้นี้
เนื้อเรื่อง
สามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องโดยอิงประวัติศาสตร์ครั้งพุทธกาล ว่าด้วยการใช้เล่ห์อุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี กรุงเวสาลี แห่งแคว้นวัชชี เนื้อความนี้มีปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร แห่งพระไตรปิฎก และอรรถกถาสุมังคลวิสาสินี โดยเล่าถึงกษัตริย์ในสมัยโบราณ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ ทรงมีอำมาตย์คนสนิทชื่อ วัสสการพราหมณ์ ทรงมีดำริจะปราบแคว้นวัชชี ซึ่งมีกษัตริย์ลิจฉวีครอบครอง แต่แคว้นวัชชีมีความเป็นปึกแผ่นและปกครองกันด้วยความสามัคคีพระเจ้าอชาตศัตรูปรึกษากับวัสสการพราหมณ์เพื่อหาอุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี โดยการเนรเทศวัสสการพราหมณ์ออกจากแคว้นมคธ เดินทางไปยังเมืองเวสาลี แล้วทำอุบายจนได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวี และในที่สุดได้เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่ราชกุมารทั้งหลาย ครั้นได้โอกาส ก็ทำอุบายให้ศิษย์แตกร้าวกัน จนเกิดการวิวาท และเป็นเหตุให้ความสามัคคีในหมู่กษัตริย์ลิจฉวีถูกทำลายลง เมื่อนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้กรีธาทัพสู่เมืองเวสาลี สามารถปราบแคว้นวัชชีลงได้อย่างง่ายดาย
คำประพันธ์
คำประพันธ์ที่ใช้แต่งสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นใช้ฉันท์และกาพย์สลับกัน จึงเรียกว่า คำฉันท์ โดยมีฉันท์ถึง 20 ชนิดด้วยกัน นับว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์เล่มหนึ่งที่อนุชนรุ่นหลังยกย่องและนับถือเป็นแบบเรื่อยมา โดยเน้นจังหวะลหุ คือเสียงเบาอย่างเคร่งครัด กำหนดเป็นสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เสมอ
ชนิดของฉันท์ที่ใช้แต่ง
กมลฉันท์, กาพย์ฉบัง, จิตรปทาฉันท์, , โตฏกฉันท์, ภุชงคประยาตฉันท์, มาณวกฉันท์, มาลินีฉันท์, วสันตดิลกฉันท์, วังสัฏฐฉันท์, วิชชุมมาลาฉันท์, สัททุลวิกกีฬิตฉันท์, สัทธราฉันท์, สาลินีฉันท์, สุรางคนางค์ฉันท์, อินทรวิเชียรฉันท์, อินทรวงศ์ฉันท์, อีทิสังฉันท์, อุปชาติฉันท์, อุปัฏฐิตาฉันท์ และอุเปนทรวิเชียรฉันท์
อนึ่ง แม้จะใช้กาพย์ฉบัง แต่ก็ยังจัดในหมวดของฉันท์ได้ ทั้งนี้กาพย์ฉบังที่ใช้ในเรื่อง กำหนดเป็นคำครุทั้งหมด